สุดยอดยุทธวิธีในการสัมภาษณ์งานหรือสอบชิงทุนการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวในภาพรวมภายนอก การเตรียมตัวในรายละเอียดระหว่างการสัมภาษณ์ และการพูดโน้มน้าวจิตใจคนฟัง
1. การเตรียมตัวในภาพรวมภายนอก
1. การแต่งกาย
แต่งกายให้ถูกต้องตามกาละเทศะทั้งเสื้อผ้าและทรงผม แต่งออกมาแล้วต้องดูดี ดูน่าเชื่อถือ เหมาะสมกับสายงานหรือองค์กรที่เราสมัคร เช่น ถ้าสมัครงานเป็นครีเอทีฟ ควรแต่งตัวให้ดูทันสมัย หรือสมัครงานบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ควรแต่งตัวให้ดูดี มีระดับ เป็นต้น ดังนั้น การแต่งกายใด ๆ ก็ตามไม่ใช่แค่แต่งตัวให้เรียบร้อยเท่านั้น แต่ควรพิจารณาความเหมาะสมตามกาละเทศะด้วย
2. บุคลิกภาพ
บุคลิกภาพที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้สัมภาษณ์จะต้องมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอ และหัดพูดทีละคำฟังทีละเสียงเพราะการพูดทีละคำจะเป็นการสร้างสมาธิทำให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่เรากำลังพูด และการฟังทีละเสียงจะเป็นการใช้สติกำกับน้ำเสียง การแสดงอารมณ์ และความชัดเจนของเนื้อหาที่เราพูด เมื่อได้ยินเสียงเราจึงจะสามารถปรับคำพูดให้ออกมางดงาม ชัดถ้อยชัดคำ และถูกต้องตามกาละเทศะได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนั้น เมื่อเราเข้าใจอารมณ์ของตัวเองแล้วจะทำให้เราเข้าใจอารมณ์ของผู้สัมภาษณ์ได้ว่า อีกฝ่ายถามคำถามนี้เพื่ออะไรและเราควรตอบกลับไปเช่นไร เป็นต้น
3. เตรียมบทพูด
ควรตระเตรียมไปก่อนว่าผู้สัมภาษณ์จะถามอะไรเราบ้าง และในการตอบไม่ควรตอบแบบบรรยายโวหาร แต่ควรตอบอย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ ฟังแล้วน่าสนใจ น่าติดตาม และต้องชี้ให้เห็นว่าประวัติการศึกษาหรือหน้าที่การงานของเรา มีความเชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์ต่อตำแหน่งหรือองค์กรที่เราสมัครอย่างไร และตัวเรามีความเหมาะสมอย่างไรที่จะรับทุนหรือตำแหน่งดังกล่าวด้วย ดังนั้น เราจึงควรศึกษาเกี่ยวกับทุนหรือตำแหน่งที่เราสมัครก่อนว่าเป็นตำแหน่งอะไร รับผิดชอบในเรื่องอะไร และเขาต้องการบุคคลประเภทไหน และที่สำคัญคือตัวเราจะต้องถามตัวเองก่อนว่า เรามีความเหมาะสมกับงานหรือทุนนั้นจริงหรือไม่ เราชอบงานในตำแหน่งนั้นจริงหรือเปล่า และในฐานะกรรมการ คิดว่าเขาจะเลือกเราหรือไม่ ถ้าเลือกเพราะอะไรและไม่เลือกเพราะอะไร เป็นต้น เมื่อรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ บุคลิก คำพูด และสายตา จะเต็มไปด้วยมั่นใจ ดูน่าเชื่อถือ สิ่งนี้สำคัญมากเพราะถ้าตัวเราเองยังไม่เชื่อมั่นตัวเองเลย แล้วใครจะเชื่อถือและไว้วางใจให้ตำแหน่งหรือทุนแก่เรา
2. การเตรียมตัวในรายละเอียดระหว่างการสัมภาษณ์
1. กิริยาท่าทางในระหว่างการสัมภาษณ์
ก้าวเดินเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจ กิริยาสุภาพ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส และไม่ควรหัวเราะเพราะจะเป็นการไม่สุภาพ และควรสบตาคณะกรรมการทุกท่าน หลังจากนั้นให้ตั้งจิตเจริญเมตตาขอให้คณะกรรมการให้ความเมตตาแก่เรา เห็นความสำคัญของเรา และให้ตำแหน่งหรือทุนนั้น ๆ แก่เรา
2. สำรวมกิริยา ได้แก่
- ดวงตาจะต้องมีรอยยิ้ม ใบหน้ายิ้มแย้ม และต้องสบตากับผู้พูด ทำใจให้สงบ และต้องสังเกตว่าคณะกรรมการคนใด ให้ความสนใจเราเป็นพิเศษและถามคำถามเพื่อช่วยเราทางอ้อมหรือไม่ ถ้าใช่ให้พุ่งความสนใจไปที่กรรมการคนนั้นมากเป็นพิเศษ เพราะคน ๆ นี้จะช่วยสนับสนุนเราได้ในภายหลัง
- ตั้งใจฟังทุก ๆ คำพูด อย่าใจลอย และไม่ควรขอให้กรรมการช่วยทวนคำถามซ้ำอีกครั้ง นอกเสียจากว่าคำถามนั้นยากจริง ๆ เราจำเป็นจะต้องถ่วงเวลาเพื่อคิดหาคำตอบโดยการให้อีกฝ่ายทวนคำถาม แต่วิธีนี้ใช้ได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น เพราะถ้าใช้บ่อยครั้งจนเกินไปจะทำให้เสียบุคลิกภาพ นอกจากนั้น ในขณะที่พูดจะต้องไม่ลืมที่จะพูดทีละคำ ฟังทีละเสียง และคำพูดทุก ๆ คำจะต้องออกมาจากความรู้สึกล้วน ๆ (Speak from your heart , not your head) คำพูดจึงจะน่าฟัง และมีพลังโน้มน้าวจิตใจคนได้
- หายใจลึก ๆ เวลาเครียดให้หายใจลึก ๆ จิตใจจึงจะสงบ
- พูดแต่สิ่งที่สร้างสรรค์ พูดแต่สิ่งที่ดี และพูดจามีเหตุมีผล ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน เราจะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่คิดดี พูดดี ทำดี และฝึกเป็นคนมีเหตุมีผลไม่ใช้อารมณ์เป็นหลัก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยของเรา เมื่อสอบสัมภาษณ์สิ่งต่าง ๆ ที่ดีก็จะออกมาเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องเสแสร้งหรือแกล้งทำ
- รู้เนื้อรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ และห้ามแสดงกิริยาก้าวร้าวหรืออวดดี โดยเด็ดขาด
3. พูดโน้มน้าวจิตใจคนฟัง
1. พูดเชื่อมโยงคุณสมบัติของเราเข้ากับผลประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับหรือเราสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้กับองค์กรได้บ้าง หากได้รับตำแหน่งหรือทุนดังกล่าว
2. ลองถามตัวเองว่ามีจุดไหนที่เขาจะสงสัยในความสามารถของ เราบ้าง ให้เตรียมตอบคำถามตรงจุดนั้นไปก่อน หรือในกรณีที่เขาสงสัยว่าเราจะทำงานกับองค์กรได้จริงหรือไม่ โดยเขาอาจจะพาเราไปตามแผนกต่างๆ เพื่อดูการตอบรับจากพนักงานหรือหัวหน้าของแต่ละแผนก ในกรณีนี้เราควรแสดงความมีมนุษยสัมพันธ์อันดีและพูดจา ยิ้มแย้มแจ่มใส
3. พูดให้เกียรติองค์กรหรือสถาบันนั้น ๆ ซึ่งเราจะพูดได้นั้น เราจะต้องรู้ซึ้งถึงผลงานหรือความสำคัญขององค์กรนั้นก่อนเป็นอย่างดี
4. พูดมีหลักการและหนักแน่นด้วยเหตุผล แต่แสดงออกด้วยน้ำเสียงและกิริยาท่าทางที่แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน
5. จดจำและนำคำคมต่าง ๆ มาพูดเพื่อสร้างความประทับใจแก่คณะกรรมการ ตัวอย่างคำคมดังกล่าว ได้แก่ "There is nothing that perseverance cannot win : ไม่มีสิ่งใด ๆ ในโลกที่จะเป็นไปไม่ได้ หากเรามีความบากบั่นและพยายาม" คำคมเหล่านี้จะหาได้จากการอ่านหนังสือมาก ๆ นั่นเอง
6. แสดงให้กรรมการเห็นถึงความกระตือรือร้นและรู้จักศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
7. พูดกล่าวถึงหลักการสากลที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและศีลธรรมจรรยา เช่น การทำงานเป็นทีม ความกตัญญูกตเวทีต่อองค์กร และความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น