The Way of the Wizard คำว่า Wizard แปลว่า พ่อมด นอกจากนี้ ยังหมายถึง ผู้รู้ ผู้วิเศษ นักปราชญ์ ผู้ที่อยู่เหนือกาลเวลา เหนือโลก โดยในประวัติศาสตร์มีพ่อมดที่โด่งดังและเก่งกาจที่สุดคนหนึ่ง คือพ่อมดเมอร์ลิน ซึ่งเป็นอาจารย์ของกษัตริย์อาเธอร์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์อังกฤษ โดยเรื่องราวที่จะนำเสนอเกี่ยวกับคำสอนของเมอร์ลินที่สั่งสอนเจ้าชายอาเธอร์ตั้งแต่วัยเยาว์ จนกระทั่งขึ้นเป็นผู้ปกครองแคว้นอังกฤษ โดยนำมาจากหนังสือเรื่อง The Way of the Wizard เรียบเรียงโดย Dr. Deepuk Chopra แพทย์ทางด้านอายุรเวทชาวอเมริกัน หลักคำสอนของเมอร์ลินมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. จิตของมนุษย์ทุกคนมีตัวรู้อยู่ภายในด้วยกันทั้งสิ้น ตัวรู้นั้นจะตื่นอยู่เสมอ ไม่มีวันหลับใหล ตัวรู้จะเป็นสิ่งที่คอยเตือนสติเราอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่บอกเราว่า สิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ แต่ที่สำคัญคือเรามักไม่ค่อยฟังในสิ่งที่ตัวรู้เตือนเรา
โดยตัวรู้นั้น จะแสดงออกมาเมื่อเกิดความสงบ แต่ถ้าเราปราศจากความสงบ เราก็จะไม่สามารถเข้าถึงตัวรู้ของเราได้ ไม่รู้จักชีวิตอย่างถ่องแท้ มองไม่เห็นคุณค่าของชีวิต เพราะมองไม่เห็นความจริงของโลกได้อย่างชัดเจนนั่นเอง
2. การจะเป็นปราชญ์หรือผู้รู้นั้นต้องไม่มีภาพที่ตายตัวเกี่ยวกับตนเอง ต้องไม่มีการยึดติดในตัวตนหรือในภาพลักษณ์ของตนเอง ภาพของผู้รู้นั้นจะเป็นเพียงขณะหนึ่ง ๆ ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่ภาพที่ถาวรไปตลอดกาล และที่สำคัญตราบใดที่ยึดติดตัวตน ตัวรู้จะหายไปทันที
3. ส่วนใหญ่มนุษย์มักจะตัดสินตัวตนและภาพลักษณ์ของผู้อื่นจากความเชื่อ ประสบการณ์ และความจำของตนเอง เช่น กษัตริย์อาเธอร์ ในสายตาของลูกน้อง เขาคือเจ้านาย ในสายตาของภริยา เขาคือสามี ในสายตาของประชาชน เขาคือผู้ปกครองแคว้น เป็นต้น ซึ่งในทุก ๆ สถานะที่กล่าวมานั้น ล้วนเกิดจากการที่มนุษย์สมมติขึ้นมา ดังนั้น การที่จะบอกว่าเราเป็นใครอย่างแท้จริงนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหากมองผ่านแนวคิดของผู้รู้ คือการไม่ตัดสินและไม่ยึดติดกับสถานภาพของคน ๆนั้น เพราะยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเพียงการสมมติขึ้นมาของสังคมหนึ่ง ๆ เท่านั้นเอง และสถานภาพทุกอย่างล้วนไม่จีรังยั่งยืน พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
4. คำเพียงหนึ่งคำของปุถุชนสามารถกลายเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์เสมือนมนตราของผู้วิเศษได้ กล่าวคือ คำหนึ่งคำ ที่เปล่งออกมานั้น ประกอบด้วยความรู้และเจตนา ซึ่งผู้วิเศษในตำนานนั้น มีการฝึกฝนพลังจิตและสมาธิให้เข้มแข็ง แน่วแน่ ส่งผลให้คำพูดของเหล่าผู้วิเศษสามารถกลายเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ดังนั้น หากเราเปล่งวาจาหรือคิดปรารถนาสิ่งใดอย่างแน่วแน่และด้วยความตั้งมั่นแล้วนั้น มันสามารถส่งผลให้เกิดเป็นความจริงได้
สิ่งสำคัญคือให้เราระมัดระวังความคิดและคำพูดให้บังเกิดแต่สิ่งที่เป็นกุศล ให้เป็นไปในแนวทางที่ดี เพราะการย้ำคิดย้ำทำในสิ่งใดบ่อย ๆ ก็เปรียบได้กับเป็นการเพิ่มเจตนาให้เข้มแข็งทีละน้อย โดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น หากเป็นความคิดและวาจาในทางที่ไม่ดี จะเป็นการแช่งตนเองหรือผู้อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งจะเป็นการสร้างอกุศลกรรมให้บังเกิดขึ้นมา
5. ธรรมชาติและสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็น ที่รับรู้ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เช่น ต้นไม้ ลำธาร ภูเขา เป็นต้น จริง ๆ แล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเลย มันเป็นเพียงความว่างเปล่า เป็นเพียงสิ่งที่สมมติขึ้นมา มนุษย์มักมองทุกอย่างจากความรู้เดิม จากความคาดหวังที่มีอยู่จากประสบการณ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันซับซ้อนมากกว่านั้น เช่น ความสวยของหญิงชาวอัฟริกัน คือต้องมีห่วงที่คอ ชาวอินเดีย ต้องสมบูรณ์อ้วนท้วน หากเอาหญิงอินเดียให้คนอัฟริกันดู ก็ต้องว่าไม่สวย ดังนั้น ความสวยความงามก็เป็นเพียงสิ่งสมมติอีกเช่นเดียวกัน และทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ ย่อมไม่มีความจีรังยั่งยืน ภูเขาย่อมมีวันทลาย สุดท้ายก็หายไปกลายเป็นความว่างเปล่า
6. ปุถุชนมักกลัวความตาย เพราะมองความตายว่าเป็นความสูญเสีย แต่ในสายตาของผู้รู้ ความตายเป็นเพียงการที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ปุถุชนไม่คิดเช่นนั้น ปุถุชนมองว่า เป็นการพลัดพรากสูญเสีย เช่น สูญเสียพ่อแม่ บุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น เพราะปุถุชนไม่ตระหนักและรับรู้ถึงความเป็นจริงอันหนึ่งคือ มนุษย์ทุกคนเกิดมา ย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จีรังและถาวร
การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความทุกข์ แต่ผู้รู้นั้นจะมองว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่นำมาเป็นอารมณ์ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร ซึ่งเป็นความจริงอันแท้จริง แต่อย่านำมาคิดในแง่ลบ หลักการนี้จะเกิดประโยชน์ในกรณี เมื่อมีการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก หรือได้ในสิ่งที่ไม่ได้รัก หรือล้มเหลวจากสิ่งที่หวัง เพื่อจะเป็นกำลังใจในชีวิตต่อไป
7. ในคำว่าได้ มักมีคำว่าเสียอยู่ด้วยเสมอ เช่น เมื่อแต่งงาน สิ่งที่ได้คือคู่ครอง แต่ที่เสียไปคือความเป็นอิสระ เมื่อมนุษย์เกิดความผิดหวัง มักมองโลกแต่ในด้านลบ มองแต่ในผลเสีย แต่หากมองกันดี ๆ แล้ว มนุษย์ไม่เคยได้สิ่งใดเลย มาตั้งแต่ต้น เพราะในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถนำมาเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง ดังนั้น เราจะเศร้าและผิดหวังไปทำไม ในเมื่อเราก็ไม่ได้เสียอะไร เพราะไม่เคยได้อะไรเลยมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
8. ปุถุชนมักจะตัดสินใจมอบความรักให้ผู้อื่นจากการมองแต่เพียงภายนอก เพียงแค่รูปลักษณ์ หรือเพราะเขายังหนุ่มยังสาว หรือรักเพราะว่าเขาเป็นของ ๆ เรา ซึ่งความรักเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่จีรัง และย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งนั้น ดังนั้น การจะมอบความรักแก่ใครนั้น ต้องมองจากความดีภายใน และความรักที่ให้ต้องเกิดจากความปรารถนาดี มิใช่เพื่อครอบครอง ความรักเช่นนี้จึงจะยั่งยืน ถึงแม้ว่าคนที่เรารักจะตายไปแล้ว แต่ความปรารถนาดีเหล่านั้นก็จะคงอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป
9. เมื่อเผชิญกับความยากลำบาก ให้คิดว่าเป็นบททดสอบจากสวรรค์ ที่ฝึกให้เราอดทนและยอมรับในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และให้คิดเสียว่าปัญหาในแต่ละครั้งเป็นโอกาสให้เราได้พิสูจน์ตนเอง และเป็นบทเรียนให้เรา หากเราสามารถข้ามผ่านไปได้ จะทำให้เรามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าได้รับบาดแผลมาบ้างก็ถือว่าเป็นภูมิคุ้มกัน
ในกรณีที่เป็นพ่อแม่ ต้องสอนลูกหลานให้เห็นกรอบแห่งชีวิต ส่วนพ่อแม่เป็นเพียงผู้ชี้ทางให้เห็นข้อดีข้อเสีย และชี้ให้เห็นผลที่จะเกิดขึ้น และให้ลูกคิดเองว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจะรับได้หรือไม่ เพราะหากถ้าบุตรหลานไปประสบปัญหาเอง จะได้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเองได้
10. ความปรารถนาของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือสัจจธรรมของมนุษย์ แต่ผู้รู้จะอยู่เหนือความปรารถนาเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อปรารถนาสิ่งใดมาก ๆ แล้วไม่ได้มา ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะมีสิ่งที่ปรารถนาใหม่เข้ามาทดแทน
แต่ตราบใดที่มีความปรารถนา ก็จะมีความร้อนลุ่ม และหากมองเข้าไปลึก ๆ แล้วความปรารถนาก็เป็นเพียงแค่ความว่างเปล่า เพราะสุดท้าย สิ่งที่เราคิดว่า อยากได้มาก ๆ ในตอนนี้ สุดท้ายเราก็เบื่อ และก็ไม่อยากได้มันอีกต่อไป เพราะมีสิ่งใหม่ที่อยากได้มากกว่า เป็นเช่นนี้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ในเมื่อเรายังเป็นมนุษย์ยังต้องอยู่ในสังคม ยังต้องมีความปรารถนาในทรัพย์สิน วัตถุต่าง ๆ เพื่อใช้ดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องมีวิธีดำรงตน ไม่ให้หลงมัวเมาไปกับแรงปรารถนา ซึ่งทำได้โดยเมื่อเรามีปัญญาและทรัพย์สินมากขึ้นเท่าไหร่ เราจะต้องใช้สิ่งเหล่านี้ ช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่เดือดร้อน เพื่อฝึกการเป็นผู้ให้ และเมตตาต่อผู้อื่น
11. ประการสุดท้ายนรกและสวรรค์นั้น สามารถอยู่ในใจของเราได้ อยู่ที่เราจะเลือกว่าจะเอาสิ่งใด มาอยู่ในใจของเรานั่นเอง