The Six Pillars of Self Esteem บทความที่นำเสนอคือ The Six Pillars of Self Esteem แต่งโดย Nathaniel Brandon ว่าด้วยเรื่องการสร้างความนับถือตนเองหรือ Self esteem ซึ่งจะแตกต่างกับคำว่า ความเชื่อมั่นในตนเอง หรือ Self confidence ตรงที่ว่า ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นเรื่องของความกล้าที่จะตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต แต่ Self esteem หรือความนับถือในตนเองนั้นคือความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะเผชิญโลกได้ในทุกสถานการณ์ และรู้ซึ้งดีว่าตนเองนั้นมีคุณค่าและเป็นคนดี มีความมั่นคงภายในจิตใจ โดยชาวตะวันตกมีสมมติฐานที่ว่า หากคนเราขาดความนับถือตนเอง หรือ Self esteem แล้วนั้น จะทำให้
- ยากที่จะมีความสุขเพราะจะเป็นคนจับจดทำอะไรก็ไม่สำเร็จ
- ยากที่จะเป็นคนดีเพราะเมื่อไม่สามารถเคารพตนเองได้ก็ยากที่จะเคารพผู้อื่นเช่นกัน
- ยากที่จะประสบความสำเร็จเพราะเมื่อไม่มีจุดยืนในตนเอง จึงไม่สามารถแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใด ๆ ออกมาได้โดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงวิพากวิจารณ์จากคนรอบข้าง
คนที่ขาด Self esteem จะมีบุคลิกลักษณะ ดังต่อไปนี้
1) เป็นคนจับจด ทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ มักล้มเลิกกลางครัน เพราะคิดอยู่เสมอว่าตนเองคงจะทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเพราะไม่มีความสามารถเพียงพอ
2) แคร์คนอื่นอยู่ตลอดเวลา เช่นกลัวว่าเพื่อนจะไม่ชอบเรา กลัวว่าแฟนจะทิ้ง กลัวครูจะว่า กลัวเพื่อนร่วมงานจะเกลียด เป็นต้น เพราะเนื่องจากไม่เคยคิดว่าตนเองนั้นมีความสำคัญ จึงหวาดกลัวว่าจะถูกทิ้งอยู่ร่ำไป
3) ชอบปรุงแต่งคิดว่าคนรอบข้างมองตนเองในแง่ลบตลอดเวลา เช่นเมื่อได้ยินผู้อื่นกล่าวพาดพิงถึงตนเองก็คิดว่าต้องเป็นเรื่องตำหนิติเตียนอย่างแน่นอน เป็นต้น
สาเหตุของการขาดความนับถือในตนเองหรือ Self esteem
1. การได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และครูบาอาจารย์ที่คอยดุด่าว่ากล่าวอยู่ตลอดเวลา และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูกหรือลูกศิษย์เลย ไม่เคยให้อิสระทางความคิดใด ๆ เพราะคิดว่าการชื่นชมจนเกินไปจะทำให้เหลิง แต่ในความเป็นจริงการชื่นชมอย่างมีเหตุผลจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ และสร้างความนับถือในตนเองให้แก่เด็กได้อย่างดีเยี่ยม แต่ในกรณีที่ลูกหลานเกกมะเหรกเกเร การไม่ดุด่าว่ากล่าวย่อมเป็นการให้ท้ายเด็ก ยิ่งทำให้เสียคนเข้าไปใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้นการว่ากล่าวตักเตือนควรทำอย่างมีเหตุผลมาอ้างอิง ตำหนิเพราะอะไร และต้องชี้ให้เห็นว่าหากทำเช่นนี้แล้วจะส่งผลอย่างไรในอนาคต เด็กจะรู้จักคิดเองและเป็นคนมีเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์เข้าตัดสินปัญหา
2. วัฒนธรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนด Self esteem เช่นวัฒนธรรมตะวันออกจะสอนให้มีความสำรวมทั้งกิริยาและการแสดงออกทางอารมณ์ ทำให้มี Self esteem ต่ำไปโดยปริยาย ยกตัวอย่างเช่นคนญี่ปุ่นมีความเชื่อที่ว่าคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์เพียงพอต้องสามารถเก็บงำความรู้สึกไว้ภายใต้สีหน้าอันเรียบเฉยได้ เป็นต้น ซึ่งทำให้เป็นคนเก็บกดและเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา
คนที่มี Self esteem จะมีบุคลิกลักษณะ ดังต่อไปนี้
1) มีดวงตาเป็นประกาย หน้าตาเบิกบาน แจ่มใส สีหน้าไม่ตึงเครียด สงบ มีชีวิตชีวา เปล่งปลั่ง
2) เวลาพูดและเดิน คางจะไม่ตก
3) เวลาพูดสามารถสบตากับฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่หลบสายตา
4) เดินอย่างมีจุดมุ่งหมาย รู้ว่าตนเองกำลังจะเดินไปไหน
5) มีสติในการพูด รู้ว่าตนเองกำลังจะพูดอะไร เพื่ออะไร โดยไม่ต้องมีการพูดออกตัวหรือกล่าวคำขอโทษก่อนที่จะพูดอยู่ตลอดเวลา
Self esteem จะเป็นเสมือน Software ที่ติดตั้งอยู่แล้วในแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าคน ๆ นั้นจะสามารถประสบความสำเร็จได้หรือไม่ เพราะคนที่มี Self esteem ต่ำคือคนที่คิดอยู่เสมอว่าตนเองไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เพราะคิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ล้มเหลวสมความปรารถนา แต่ในขณะเดียวกันคนที่มี Self esteem สูงจะเป็นคนรู้ดีว่าตนเองนั้นเป็นคนดี มีคุณค่า เป็นที่รักของคนอื่น เป็นคนมีความสามารถ พร้อมที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองอยู่ตลอดเวลา และสามารถฝ่าฟันปัญหาชีวิตได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เหล่านี้เป็นเสมือนตัวที่คอยเตือนสติและให้กำลังใจตนเองอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ประสบความสำเร็จ และมีความสุขได้อย่างไม่ยากเย็นนัก Self esteem เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเองได้ โดยผู้แต่งได้เสนอ
วิธีการสร้าง Self esteem ไว้ 6 ประการ ดังนี้
1. การใช้ชีวิตอย่างมีสติ (Living Consciousness)
ในที่นี้คือการค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ และค่อย ๆ แก้ปัญหา เมื่อเจอปัญหาทุกครั้งให้ใช้สติและปัญญาแก้ไขปัญหาอย่างใจเย็น เพราะคนเราจะรู้สึกนับถือตนเองได้นั้น ต้องเกิดจากการสามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้ เมื่อทำได้จะเกิดกำลังใจ เกิดพลัง เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้น ก่อนลงมือทำสิ่งใดต้องมีสติ ต้องพยายามทำอย่างสุดความสามารถ และทำให้ถึงที่สุดอย่าล้มเลิกกลางครัน คนที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ ครั้ง แม้ว่าจะเจออุปสรรคหรือล้มเหลวบ้างก็จะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะส่วนใหญ่ก็มักจะสำเร็จทั้งนั้น ผิดกับคนที่ล้มเหลวมาตลอดซึ่งเดิมก็ขาดกำลังใจในเผชิญอุปสรรคอยู่แล้วกอปรกับการล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จิตใจก็ยิ่งห่อเหี่ยวเพิ่มเป็นทวีคูณ นอกจากนั้น ผู้แต่งได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการจะมีสติได้นั้นต้องสังเกตความคิดและความรู้สึกของตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นคนที่มีความคิดมีทัศนคติอย่างไรบ้างในทุก ๆ สถานการณ์ เมื่อรู้จักตนเองดีพอ จึงจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองได้ เพราะปัจจัยอีกประการหนึ่งที่สามารถสร้างความนับถือในตนเองได้ก็คือเมื่อทำผิดแล้วสามารถแก้ไขจุดบกพร่องของตนเองได้ด้วย
2. การยอมรับตนเอง(Self Acceptance)
ในที่นี้คือ การยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อบกพร่องของตนเอง สิ่งไหนที่แก้ได้ก็แก้ไขเสีย สิ่งใดแก้ไขไม่ได้ให้รู้จักยอมรับความเป็นจริง เพราะหากมัวแต่ง่วนคิดเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลาจะทำให้จิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน การทำงานก็เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อถูกตำหนิก็เป็นกังวล เกิดเป็นปมด้อยวกวนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุดเป็นวงจรอุบาทว์ และหากตนเองยังยอมรับจุดอ่อนของตัวเองไม่ได้เมื่อมีคนอื่นมาแตะจุดอ่อน ก็จะรู้สึกไม่พอใจ อึดอัด พาลใส่อารมณืกับคนรอบข้าง หาความสุขไม่ได้ สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้โดยการยอมรับว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เหรียญย่อมมีสองด้านมีดีก็ย่อมมีเสีย หากยอมรับได้จิตจะนิ่ง จึงจะมีความสุขและทำสิ่งใดล้วนประสบแต่ความสำเร็จ
3. การมีความรับผิดชอบต่อตนเอง (Self Responsibility)
คือการยอมรับได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่เราเลือกเอง รับผิดชอบเอง และเมื่อเกิดอุปสรรคและความล้มเหลวก็ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษโชคชะตา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการมีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรและสิ่งที่จะตามมานั้นคืออะไร คนที่โทษคนอื่นอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์หรือความล้มเหลวของตนเองจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้เพราะคิดอยู่เสมอว่าเป็นความผิดของผู้อื่นจึงไม่สามารแก้ไขได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการฝากชีวิตไว้ในกำมือของผู้อื่น
4. การมีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต (Self Assertiveness)
คือการสามารถเปลี่ยนความคิดให้เป็นการกระทำได้ (Take Action) ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับแนวโน้มพื้นฐานของมนุษย์คือมนุษย์รักความสบาย ไม่ชอบความยากลำบาก และชอบอยู่เฉย ๆ ซึ่งก็คือการผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความสุขชั่วครู่เพราะสิ่งที่ตามมาคือความเป็นจริง ซึ่งจะนำมาซึ่งความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะยังมีงานอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ วิธีการป้องกันการผัดวันประกันพรุ่งคือลองคิดถึงผลที่ตามมาเมื่อนั้นแล้วจิตจะกลับไปสู่ความเป็นจริงและลงมือกระทำเอง และต้องมีการปลูกฉันทะคือการสร้างภาพว่าหากเราประสบความสำเร็จ จะมีสิ่งดี ๆ งาม ๆ อะไรบ้างรอเราอยู่ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไป
5. การใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมาย (Living Purposefully)
ในที่นี้คือการวางเป้าหมายให้ทัดเทียมกับศักยภาพที่มีอยู่ การจะมองเห็นซึ่งศักยภาพได้ต้องมองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองอย่างครบถ้วนเสียก่อน เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วบวกกับพรสวรรค์ ความเชี่ยวชาญและความชอบของตนเองจึงจะเรียกว่าศักยภาพที่แท้จริง ต่อมาคือขั้นตอนในการใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายคือวิธีการที่จะทำให้ถึงซึ่งจุดมุ่งหมายที่หวังไว้ และที่สำคัญเมื่อลงมือกระทำไปแล้วจะต้องมีการประเมินอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่ เพื่อปรับวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
6. การมีศักดิ์ศรีในตนเอง (Personal Integrity)
ในทีนี้คือการสามารถปฏิบัติตามความเชื่อ คุณธรรม หรือหลักการที่ตนเองเชื่อมั่นได้ ซึ่งก็คือการมีปากกับใจตรงกันนั่นเอง การทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นนั้น จะเป็นตัวบ่อนทำลายความนับถือในตนเอง เช่น เราเป็นคนที่ไม่ชอบการโกหก แต่เมื่อเป็นผลประโยชน์ของตนเองกลับยอมโกหกได้นั้น เป็นต้น เหล่านี้เป็นการทำลายความนับถือตนเองโดยไม่รู้ตัว และในทางกลับกันถ้าสามารถทำตามคุณธรรมดังกล่าวได้จะทำให้เรามีความเชื่อมั่นในการที่จะทำความดีต่อไป และจะรู้สึกภูมิใจในตนเอง รู้จักรักตนเอง เมื่อนั้นแล้วจึงจะรักผู้อื่นเป็น ความสุขจึงบังเกิดขึ้น การเป็นคนมีคุณธรรมนั้นสามารถอยู่ได้ทุกสถานการณ์ ถึงแม้เหตุการณ์ภายนอกจะเลวร้ายเพียงใด จะโดนว่ากล่าวเสียดสีอย่างไรก็ไม่เป็นผล จะไม่มีสิ่งใดมากระทบกระเทือนได้เพราะรู้จักตนเองดีพอ รู้ว่ากำลังทำสิ่งใดอยู่ และทำไปเพื่ออะไร และที่สำคัญคือรู้ว่าตนเองเป็นคนดี ก่อให้เกิดความมั่นใจจากภายในอยู่ตลอดเวลา
วิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานและวิธีการทำให้คนรอบข้าง มี Self esteem ทำได้ ดังนี้
1) ในกรณีที่เป็นพ่อแม่ต้องให้โอกาสลูกในการใช้เหตุผลในการเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง กรณีคนรอบข้างเราต้องให้อีกฝ่ายรู้จักคิดและแสดงความเห็น และเราเป็นผู้ฟังที่ดี แต่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องมีเหตุผลในการอธิบาย
2) เวลาวิพากษ์วิจารณ์ หรือดุด่าว่ากล่าวควรมีเหตุผลอธิบายทุกครั้ง ไมใช่ทำตามอารมณ์ และควรจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องใด เรื่องเก่าที่เคยทำผิดไม่ต้องขุดมาว่าซ้ำเพราะจะเป็นการทำลาย self esteem ของฝ่ายตรงข้ามได้
วิธีการบริหารลูกน้อง ให้มี Self esteem
1) มองลูกน้องในแง่ดี ไม่ดูถูกความสามารถของลูกน้อง ชื่นชมลูกน้องต่อหน้าผู้อื่น แต่ว่ากล่าวตักเตือนเป็นการส่วนตัว ไม่ประณามต่อหน้าสาธารณชน แต่หากจำเป็นต้องแจ้งให้ผู้อื่นทราบถึงพฤติกรรมที่ไม่ควรทำเป็นเยี่ยงอย่างให้เรียกประชุมทั้งหมดและแจ้งให้ทราบโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อว่าใครเป็นผู้กระทำผิด
2) มอบหมายงานที่สำคัญ ๆ ให้ลูกน้องทำบ้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และที่สำคัญคือต้องให้อำนาจในการตัดสินใจและบอกจุดประสงค์ของงานดังกล่าวอย่างชัดเจนก่อนมอบหมายงาน
3) ในฐานะผู้บริหารต้องรู้จักขอความคิดเห็นจากลูกน้อง เพื่อที่ว่าเขาเหล่าจะรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ มีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จขององค์กร