คนที่จะทำงานอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จจะต้องรู้จักการบริหารงาน บริหารคน และบริหารตนเอง ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. การบริหารงาน ในที่นี้คือความสามารถในการทำงานให้กับองค์กรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะต้องประกอบด้วย
1) มีความจงรักภักดีต่อองค์กร
- ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ สร้างผลงานและผลกำไรให้กับองค์กรอย่างเต็มที่
- มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรักและภูมิใจในองค์กรของตนเอง สำรวมคำพูดและการกระทำทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่นินทาว่าร้ายหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้า
2) เป็นหูเป็นตาให้กับองค์กรและรู้จักเสนอความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น
3) มีนิสัยทำงานเกินเงินเดือน
2. การบริหารคน ในที่นี้ได้แก่ หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้า
1) ต้องรู้จริตของฝ่ายตรงข้าม จริตของมนุษย์มีทั้งหมด 6 ประเภท ดังนี้
- ราคะจริต คนจริตนี้จะมีความละเอียดอ่อน พูดจาไพเราะ ดังนั้น หัวหน้าประเภทนี้จะชอบผลงานที่ละเอียดรอบคอบ มีรูปแบบที่สวยงาม และวิธีการนำเสนอจะต้องนิ่มนวล สุภาพ ไพเราะน่าฟัง
- โทสะจริต หัวหน้าประเภทนี้จะใจร้อน มีระเบียบวินัยสูง ผลงานที่เสนอจะต้องตรงประเด็น และเสร็จตามเวลาที่กำหนด
- โมหะจริต หัวหน้าประเภทนี้จะเฉย ๆ ไม่เรียกร้องอะไรมากนัก ดังนั้น ในฐานะลูกน้องเราควรจะเตรียมประเด็นทั้งหมดไปให้พร้อมและเสนอให้ท่านเป็นคนเลือกเอง
- วิตกจริต หัวหน้าประเภทนี้จะพูดไม่หยุด สั่งงานมากมายไม่หยุดหย่อน ชอบจับผิดและดูถูกความสามารถของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เจอหัวหน้าประเภทนี้ต้องระวังคำพูด พูดให้น้อยเข้าไว้ อย่าไปใส่ใจคำพูดของท่านมากนัก และให้ท่านสั่งงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานเพราะหัวหน้าประเภทนี้มักชอบกลับคำ เปลี่ยนจุดยืนอยู่ตลอดเวลา และมักจะมองเห็นผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
- ศรัทธาจริต หัวหน้าประเภทนี้จะชอบลูกน้องที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับองค์กรและมีส่วนรวมกับองค์กรอยู่ตลอดเวลา
- พุทธิจริต หัวหน้าประเภทนี้จะเป็นคนมีเหตุมีผล มีความเมตตากรุณา มีความเป็นผู้นำ ใจกว้าง ใครมีหัวหน้าประเภทพุทธิจริตถือว่าโชคดีมาก ควรทำงานอยู่กับท่านนาน ๆ ดูดซับความรู้ ปัญญา และคุณธรรมจากท่านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การที่เรารู้จริตของอีกฝ่ายจะทำให้เราเข้าใจในความคิด คำพูด และการกระทำของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง เมื่อมีการสื่อความอีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกว่าเรามีความเข้าใจ มีความจริงใจ และให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเรา
2) มี EQ.
- มีสติรู้เนื้อรู้ตัว (Self-awareness) ในที่นี้คือการรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ พูดอะไรอยู่ และผลที่จะตามมาคืออะไร นอกจากนั้น ยังรวมถึงการรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ด้วยเช่น รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร มีความถนัดในเรื่องอะไรบ้าง มีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน มีอะไรเป็นคุณธรรมประจำใจ และมีเป้าหมายอะไรในชีวิต เป็นต้น เมื่อเรารู้จักตนเองอย่างถ่องแท้จึงจะสามารถเลือกทำงานตามที่เราชอบและถนัดได้จึงจะมีความสุขในการทำงาน เมื่อเจออุปสรรคก็ไม่ย่อท้อเพราะเป็นงานที่เรารัก เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่น้อยเนื้อต่ำใจเพราะรู้อยู่แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นจุดอ่อนของเราที่กำลังปรับปรุงแก้ไข หรือเมื่อได้รับคำชมก็จะไม่เหลิงจนลืมตัวเพราะรู้อยู่แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นจุดแข็งของเรา
- รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง (Self-control) ต้องระมัดระวังอย่าขาดสติระเบิดอารมณ์ใส่ผู้อื่นโดยเด็ดขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์โกรธเพราะจะทำให้ความดีทุกอย่างที่เคยสั่งสมมาถูกทำลายไปจนหมดสิ้น หรือแม้แต่อารมณ์ดีใจก็ควรอยู่ในระดับพอดีเพราะถ้าอยู่ในฐานะหัวหน้าแล้วดีใจจนออกนอกหน้าจะทำให้ลูกน้องหมดความนับถือได้ ดังนั้น การแสดงอารมณ์ใด ๆ ก็ตามควรอยู่ในความพอดี
- มีพลังในการกระตุ้นเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา (Self-motivation)
คิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีเป้าหมายในชีวิต รู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงาน มีความเชื่ยวชาญในงานที่ตัวเองทำ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
- มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) มีความเมตตาต่อผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
- มีมนุษย์สัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น(Social skills) ผูกมิตรและอย่าสร้างศัตรู
3) มีการทำงานเป็นทีม
หัวหน้าทีมต้องรู้จักเลือกบุคลากรตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาทำงานร่วมกัน โดยแต่ละคนควรจะมีความสามารถในหลาย ๆ ด้านเพื่อให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลาย การทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้นั้น ทุกคนในทีมจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร
2. มีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน
3. เข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี เป็นผู้ฟังที่ดี ใจกว้างยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น มีสติรู้เนื้อรู้ตัวว่าตนเองกำลังพูดอะไร และพูดไปเพื่ออะไร ต้องรู้จักพูดทีละคำฟังทีละเสียง
หัวหน้าทีมจะต้องทำหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. กระตุ้นทุกคนในทีมให้แสดงความคิดเห็นออกมา
2. ดึงเนื้อหากลับเข้าสู่ประเด็น
3. ไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดข้อขัดแย้ง
4. ตั้งคำถามที่ดีเพื่อดึงความรู้ของแต่ละคนออกมาและนำมารวบรวมและสกัดออกมาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุด
3. การบริหารตนเอง
- ตั้งเป้าหมายในแต่ละวันให้แน่ชัดว่าวันนี้จะทำสิ่งใดบ้างที่เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ไม่ต้องมากชิ้นแต่ให้เน้นที่คุณภาพและสามารถทำได้จริง
- มีแผนการชัดเจนในการจะทำเป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จ
- รู้จักพักจิต ทำจิตให้สงบเพื่อสร้างพลังชีวิตให้กับตนเองเช่น การสวดมนต์ ทำสมาธิ และมองโลกในแง่ดี คิดดี พูดดี ทำดี