Teach yourself to think ตั้งแต่โบราณกาล มนุษย์ถูกสอนให้รู้จักวิธีคิดในแนวต่าง ๆ จากนักปราชญ์ ในซีกโลกทางตะวันตกจะมีนักปราชญ์ชื่อดังอยู่หลายท่าน อาทิเช่น โซเครติส เพลโต อริสโตเติล เป็นต้น ซึ่งท่านเหล่านี้ จะมีแนวการสอนที่แตกต่างกัน คือ
1.โซเครติส สอนเกี่ยวกับการแสวงหาความเป็นจริง โดยการชี้ให้เห็นสิ่งที่ถูกและผิด แต่ไม่ได้เสนอทางออกของปัญหา
2.เพลโต สอนให้ยึดกฎเกณฑ์แบบแผนที่ถูกต้อง หากมีสิ่งใดที่ไม่ตรงกับมาตรฐานนี้ จะต้องฉุกคิดว่าอาจมีสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้น
3.อริสโตเติล สอนให้รู้จักวิธีคิดแบบ วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล เป็นประเภทต่าง ๆ อย่างละเอียด
กล่าวโดยสรุป มนุษย์เราถูกกำหนดโดยกรอบความคิดอยู่เพียง 4 แบบ คือ
1) คิดวิพากษ์วิจารณ์
2) คิดโต้แย้ง คิดตัดสินว่า ใช่หรือไม่ใช่
3) คิดหาเหตุหาผล
4) คิดแบบใช้วิจารณญาณ ดีหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีคนคิดว่ากรอบความคิดแบบเดิม ไม่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ครบทุกด้าน เขาผู้นั้นคือ Edward de Bono ซึ่งเชื่อว่า คนที่ฉลาดปราดเปรื่องบางทีก็คิดไม่เป็น แต่ในขณะที่บางคนหัวสมองปานกลาง แต่กลับมีวิธีคิดอันหลักแหลม เขาเป็นผู้เขียนเรื่องราวที่ว่าด้วยวิธีคิดในแนวต่าง ๆ ในหนังสือเรื่อง Teach Yourself to Think เขากล่าวไว้ว่า มนุษย์เราน่าจะมีวิธีคิดเป็น 5 ประเภท ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ได้แก่
1. การคิดเพื่อจะหาจุดมุ่งหมายให้รู้ว่า ที่คิดอยู่นี้คิดไปทำไม มีประโยชน์หรือไม่ และควรจะคิดต่อไปหรือเลิกคิด
2. การคิดเพื่อจะหาข้อมูลว่า คิดไปเพื่ออะไร เช่น คิดเพื่อแก้ปัญหา หรือคิดเพื่อตัดสินใจ เป็นต้น และเพื่อจะหาวิธีการลงมือกระทำ และค้นหาว่า วิธีไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุด
3. การคิดเพื่อหาทางเลือก หาความเป็นไปได้ โดยความเป็นไปได้นี้แบ่งได้หลายระดับ คือ มีความเป็นไปได้มาก หรือเป็นเพียงแค่การฝันกลางวัน หรือในเวลานี้ยังขาดปัจจัยหลาย ประการ จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
ในการหาข้อมูลที่มีความเป็นไปได้นั้น ต้องหาไว้มากกว่าหนึ่งวิธี และต้องสามารถจัดระดับความเป็นได้ว่า อันไหนเป็นไปได้มากกว่ากัน และต้องทำด้วยวิธีใด ตามลำดับก่อนหลัง นอกจากนั้น ในการหาข้อมูลที่มีความเป็นไปได้ ต้องหัดมองในมุมตรงข้ามด้วย เพราะอาจจะทำให้มองเห็นหนทางในอีกมุม ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน
4. การคิดถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ได้แก่
- มีสิ่งใดเกิดตามมาได้บ้าง
- ตัวเรากับคนรอบข้างยอมรับได้หรือไม่
- มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอันนั้นได้
- ที่สำคัญที่สุด คือ สิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องทำในตอนนี้หรือไม่ และด้วยเหตุใด และหากไม่ทำตอนนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ในการคิดพิจารณาทั้ง 4 ประการที่กล่าวมานี้ ควรกระทำในขณะที่จิตว่าง สดใส ไม่ฟุ้งซ่าน จึงจะได้ข้อมูลในการตัดสินใจที่แม่นยำมากที่สุด
5. การคิดเกี่ยวกับการลงมือกระทำ
- ก่อนอื่นต้องเตรียมแผนสำรองไว้ก่อน อย่าเพิ่งเริ่มทำหากยังไม่มีแผนสำรอง
- พิจารณาเกี่ยวกับบุคลากรที่เราจะต้องร่วมงานด้วย
- ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้อื่นเห็นพ้อง และอยากทำงานกับเรา
- อย่าคาดหวังว่าผู้ร่วมงานน่าจะรู้เองว่า ควรทำอะไรบ้าง แต่ให้จัดตั้งกลุ่มผู้รับผิดชอบ และมอบหมายงานไปเลย หลังจากนั้นให้ติดตามผลเป็นระยะ ๆ
- ให้หาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานนั้น ๆ มาร่วมงาน เพราะผู้ที่เชี่ยวชาญในสายงานนั้น จะมีความเข้าใจงานอย่างถ่องแท้ และสามารถซักถามในสิ่งที่จำเป็น และเหมาะสมในการทำงานนั้น ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญมักมีจุดอ่อนตรงที่จะไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเพราะกลัวเสียชื่อเสียง ดังนั้น การรับฟังคำปรึกษาใด ๆ ต้องกลั่นกรองพิจารณาอีกชั้นหนึ่งด้วย และเราต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง ว่าจะลงมือทำตามคำปรึกษาหรือไม่ เพราะเหตุใด
- ต้องหาคน หรือกลุ่มคน หรือหน่วยงานมาช่วยทำงานด้วย อย่าคิดว่าเราจะสามารถดำเนินงานได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยตัวคนเดียว