เมื่อเราประสบความสำเร็จจนได้รับตำแหน่งใหม่ ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น คือลูกน้องไม่ยอมรับ เจ้านายที่เคยเข้าใจเรากลับมีทีท่าเฉยเมย เสนองานใดไปก็ไม่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม หรือถ้าผ่านที่ประชุมระดับสูงก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานและลูกน้องอยู่ดี ดังนั้นหากเราแก้ไขหรือปรับตัวไม่ได้ อาจจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่พยายามมาทั้งหมดกลับล้มครืนไม่เป็นท่า จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการแก้ไข โดยบทความที่จะนำเสนอในครั้งนี้ ว่าด้วยกลวิธีในการวางตัวเพื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัย Harvard คือ The First Ninety Days: Critical Success Strategies for New Leaders at all levels ช่วงเก้าสิบวันแรกแห่งการชี้เป็นชี้ตายว่า คุณจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือไม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง
1.ให้ลืมอดีตที่เคยประสบความสำเร็จและตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายในขณะนี้ให้ดีที่สุด
งานในตำแหน่งใหม่นั้นเปรียบได้กับสมรภูมิใหม่ ทุกอย่างเปลี่ยนไป ทั้งในด้านบุคคล สิ่งแวดล้อม แนวความคิด และกลยุทธในการบริหารที่แตกต่างไปจากเดิม และที่สำคัญในการทำงานจะให้ประสบความสำเร็จนั้น เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ หากยังติดอยู่กับอดีตจะทำให้มองเห็นงานในปัจจุบันได้ไม่ชัดเจน มองเห็นได้ไม่ครบทุกด้าน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล้มเหลวขึ้นมาได้ นอกจากการให้ลืมอดีตแล้วนั้น ที่สำคัญต้องศึกษาแก่นของงานทั้งหมดด้วย ศึกษาปัจจัยร่วมทั้งหลายอย่างละเอียดถี่ถ้วน หากไม่เข้าใจต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนลงมือทำงาน และต้องรู้บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเองอย่างถ่องแท้เสียก่อน แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่รับตำแหน่งใหม่มักคิดว่าต้องรีบๆ สร้างผลงานเพื่อแสดงศักยภาพและความกระตือรือร้นของตนให้เจ้านายเห็น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะเราเป็นคนใหม่ เปรียบเสมือนคนไม่ชำนาญพื้นที่ ไม่ใช่เจ้าถิ่น หากทำอะไรผลีผลามจะทำให้ง่ายต่อการผิดพลาดและล้มเหลว ถ้าพบจุดอ่อนต้องรีบแก้ไข ส่วนไหนขาดต้องรีบเติมให้เต็ม และต้องหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมาช่วยเรา
2.ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทใหม่อย่างถ่องแท้และรวดเร็ว
คือสามารถรู้ได้ว่า ในองค์กรมีวัฒนธรรมอย่างไร มีแนวความคิดไปในทิศทางใด มีกี่แผนกและแต่ละแผนกควบคุมส่วนใดบ้าง แล้วงานใหม่ของเราต้องประสานงานเกี่ยวข้องกับแผนกใดบ้าง และแต่ละฝ่ายใดมีอิทธิพลกับเรามากน้อยแค่ไหนในแง่ลบหรือแง่บวก
- สามารถเรียนรู้ Hard data ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานหลักๆ เช่นข้อมูล เกี่ยวกับด้านวิชาการและเอกสาร’ ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆและ Soft data ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลในองค์กร และข้อมูลนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น กลยุทธภาพรวมขององค์กรเป็นไปในทิศทางใด ระบบการเมืองภายในที่ทำงานทั้งในระดับล่าง ระดับกลาง และระดับสูงเป็นอย่างไรบ้าง รวมไปถึงวัฒนธรรมภายในองค์กรด้วย
- ต้องศึกษาว่างานที่เราทำอยู่นี้อะไรคือ สิ่งที่ท้าทายขององค์กร และสิ่งที่ท้าทายนั้นเราสามารถพลิกให้กลับมาเป็นโอกาสแก่เราได้หรือไม่ (เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส)
3.ต้องดำเนินกลยุทธที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของงานที่เราทำอยู่ในขณะนั้น และงานนั้นต้องเกิดประสิทธิผล
ที่ได้รับการยอมรับ ก่อนอื่นต้องมองให้ออกก่อนว่าธุรกิจของเราอยู่ในประเภทใดใน 5 ประเภทต่อไปนี้ เพราะธุรกิจในแต่ละแบบจะบ่งถึงยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป
- ธุรกิจใหม่ (Start up Business) จะมีกลยุทธที่ประกอบด้วยปัจจัย 3 ข้อ คือ 1) บุคคลที่เราจะเลือกมาเป็นผู้ร่วมงาน 2) เทคโนโลยีจะใช้เทคโนโลยีใด มาช่วยในการบริหารงาน และ3) เงินทุน จะหาเงินทุนได้จากที่ไหน จะควบคุมรายรับรายจ่ายได้อย่างไร เพราะธุรกิจจะอยู่ได้ด้วยกำไร จุดดีของธุรกิจประเภทนี้คือ เป็นธุรกิจใหม่มีความท้าทาย ตื่นเต้น แต่ที่ต้องระวังเพราะมีความเสี่ยงเนื่องจากเรายังไม่มีประสบการณ์ ดังนั้น ต้องลองผิดลองถูกก่อน ต้องยอมรับให้ได้หากมีข้อผิดพลาด และมีอุปสรรคเกิดขึ้น ให้หาหนทางแก้ไขอย่าท้อถอย
-ธุรกิจที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน พนักงานมักขาดขวัญและกำลังใจ ไม่มีจิตใจทำงาน แล้วเราเป็นผู้ถูกเลือกให้ไปช่วยแก้ปัญหา ดังนั้น ให้เตรียมใจรับแรงต้านจากพนักงานที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะพวกที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในองค์กร หรือพวกที่เคยได้รับอำนาจในอดีต แต่ปัจจุบันถูกทอนอำนาจลงไป ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีการเล่นพรรคเล่นพวกกันอยู่ภายใน จะมีการต่อต้าน และลองภูมิผู้ที่มาใหม่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการยากในการแก้ปัญหาและทำงานในองค์กรประเภทนี้ แต่การแสดงออกของพนักงานเหล่านี้ก็มีข้อดี คือทำให้เราสามารถ รู้ถึงวิสัยทัศน์ต่างๆของคนในองค์กร ทำให้พอจะคาดเดาทิศทางการดำเนินงานในองค์กรนั้นๆได้ และที่สำคัญสามารถเห็นกลยุทธในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องคิดเองเหมือนธุรกิจใหม่ ซึ่งธุรกิจใหม่หากวางกลยุทธผิดก็ล้มได้เหมือนกัน ดังนั้นบริษัทที่ก่อตั้งมานานแล้วมีข้อดีตรงที่ประหยัดทรัพยากรในการลองผิดลองถูก
-ธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาในอนาคต เราเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปหากลวิธีป้องกัน ดังนั้น เราต้องรู้ว่าเจ้านายคาดหวังอะไรจากเรา และเราต้องทบทวนพิจารณาว่าองค์กรนั้นกำลังมุ่งไปในทิศทางใด สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดหรือการทำธุรกิจในขณะนั้นหรือไม่ มีข้อบกพร่องตรงจุดไหนบ้าง ในการณ์นี้อาจต้องใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยปรับการบริหารด้วย
-ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ทำให้เราได้รับการเลื่อนขั้น ดังนั้น เราต้องรู้ว่าเจ้านายคาดหวังอะไรจากเรา ที่สำคัญเราต้องสามารถรักษาระดับคุณภาพของงานไม่ให้น้อยลงไปและจะเพิ่มคุณภาพให้ขึ้นไปอีกได้อย่างไร
4.วิธีการรบและรุกให้ได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว
1) หากไม่เห็นหนทางในการที่จะชนะ ให้หยุดและหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อผิด พลาดเกิดขึ้นเร็วจนเกินไป ดังนั้นคือต้องเห็นโอกาสที่จะชนะอย่างชัดเจน ก่อนจึงค่อยลงมือทำ
-ห้ามคิดว่าเราสามารถทำงานด้วยตัวคนเดียวได้ มิฉะนั้น เราจะถูกลอยแพเสียเอง โดยเราต้องดึงผู้ ที่มีความสามารถและไว้ใจได้มาร่วมงาน และให้เขามีโอกาสแสดงความคิดเห็นและให้เขารู้สึกว่าเขา เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเจ้าของ
2) ห้ามทำสิ่งใดที่สวนกระแสวัฒนธรรมองค์กรโดยเด็ดขาด
- ห้ามทำงานใดๆโดยที่เจ้านายไม่ได้รับทราบและต้องทำสิ่งที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของของ องค์กร ดังนั้น เมื่อจะตัดสินใจทำอะไรต้องปรึกษาเจ้านายก่อน ต้องแจกแจงให้ได้ว่า ขณะนี้กำลัง ดำเนินการอะไรอยู่ โดยที่องค์กรและเจ้านายจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เพี่อเป็นการแสดงให้เห็น ว่าคุณให้ความสำคัญกับองค์กรเป็นอันดับแรก เพื่อที่ว่าหากประสบความสำเร็จเราก็จะได้รับคำชื่น ชมจากเจ้านายเต็มๆ แต่หากเกิดข้อผิดพลาดก็น้อยเพราะได้รับการช่วยกลั่นกรองจากเจ้านายมา แล้ว
-ห้ามทำอะไรที่ขาดคุณธรรม ผิดศีลธรรม การจะทำสิ่งใดต้องโปร่งใส มีคุณธรรม ไม่จำเป็นต้องปัด แข้งปัดขาใคร
3) ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนาย และเอาใจเจ้านายด้วยคุณภาพของงาน ดังนั้น เราต้อง ทราบว่านายต้องการอะไร โดยการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้านายบ่อยๆ ตามโอกาสสมควร และ ต้องสั้นๆ กระชับได้เนื้อหาและใจความ และควรรายงานการทำงานให้เจ้านายทราบเป็นระยะๆ
-ห้ามต่อว่าการกระทำของผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเดิมที่คุณกำลังทำอยู่ ให้เจ้านายฟังโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ภาพพจน์ของคุณถูกมองไปในแง่ลบโดยสิ้นเชิง
-เมื่อจะต้องปรึกษาปัญหาต่างๆ จากเจ้านายต้องให้แน่ใจก่อนว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและจำเป็น จริงๆ และต้องคิดทางแก้ไขที่พอจะเป็นไปได้ไปก่อนล่วงหน้าและปรึกษาจากเจ้านายของคุณอีกที
-อย่าคิดที่จะเปลี่ยนแปลงนายของคุณโดยเด็ดขาด
-ต้องเข้าหาคนที่เจ้านายเรานับถือ เคารพและศรัทธาด้วย เพราะเจ้านายอาจไม่แน่ใจในตัวเราแล้ว ไปปรึกษาบุคคลนั้นๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันเจ้านายเข้าใจผิดในตัวเรา จึงต้องเข้าไปทำความรู้จักกับ บุคคลเหล่านี้ด้วย
4) ต้องมองให้ออกว่าปัญหาขององค์กรที่กำลังประสบอยู่คืออะไร เช่นบุคลากรไม่มีความเชี่ยว ชาญพอ หรือกลยุทธขององค์กรไม่สอดคล้องกับตลาด หรือเกิดความขัดแย้งภายในองค์กรเอง ฯลฯ
5) เมื่อคุยกับเจ้านายแล้วต้องลงมือทำให้เกิดผล คือสามารถสื่อความ ประสานงานให้ผู้อื่นทำได้ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรสูงสุด
5.ให้ระวังเรื่อง team work
ก่อนจะสร้างทีมนั้น จะต้องมั่นใจก่อนว่า ในภาพรวมขององค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน รู้ว่าจะมุ่งไปสู่จุดใด พนักงานมีความชำนาญงานพอแล้วจึงค่อยสร้างทีม
1) ในช่วงแรกให้ระวังคนที่มีความสามารถที่เราต้องการที่จะดึงมาร่วมงานด้วย จะเปลี่ยนใจไปร่วมงานกับผู้อื่นดังนั้นต้องล็อคตัวไว้ก่อน หากบุคลากรเดิมไม่เหมาะสมอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือปลดออก
-ต้องมีการประเมินกลุ่มผู้ร่วมงานเป็นระยะๆ เพื่อจะได้ดูความใส่ใจของพนักงานที่มีต่องานและดูความสอดคล้องระหว่างความสามารถของบุคคลกับงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น และหากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโยกย้ายก็ต้องกระทำ
2) ผู้ร่วมงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับเราด้วย โดยให้กลุ่มลูกน้องคุยกันเองก่อนแล้วจึงมานำเสนอแก่เรา
3) ต้องรู้จักผูกสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อเปิดโลกทัศน์ และรับมุมมองใหม่ๆ และรับข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น